ด

จักรวาล และ เอกภพ 
          “จักรวาล” และ “เอกภพ” เป็นคำๆ ที่มีความหมายเหมือนกัน ตรงกับคำภาษาอังกฤษว่า “Universe” ซึ่งหมายถึง ทุกสรรพสิ่งทั้งหมดทั้งปวง  จักรวาลเป็นภาษาพูด เอกภพเป็นภาษาวิชาการ  แต่ในสังคมทั่วไปเรานิยมใช้คำว่า “จักรวาล” เช่น ท่องอวกาศสำรวจจักรวาล   เรามักใช้คำว่า “เอกภพ” ในโอกาสที่เน้นว่าทุกอย่างเป็นหนึ่งเดียวกัน เช่น เอกภพเกิดขึ้นเมื่อหนึ่งหมื่นห้าพันล้านปีมาแล้ว   ปัจจุบันเอกภพกำลังขยายตัว  

วิชาดาราศาสตร์ 
          ดาราศาสตร์ (Astronomy) เป็นวิชาที่ว่าด้วยการศึกษาธรรมชาติของวัตถุท้องฟ้า และค้นหาความจริงของจักรวาล โดยใช้กระบวนการทางวิทยาศาสตร์   ดาราศาสตร์เป็นวิชาที่เก่าแก่ที่สุดของมนุษยชาติ  หากมองย้อนอดีต จะพบว่า ชาติมหาอำนาจและทุกอารยธรรม ล้วนให้ความสำคัญต่อเทห์วัตถุและปรากฎการณ์บนท้องฟ้า  ทุกศาสนามีบันทึกเรื่องราวเกี่ยวกับโลกและดวงดาว  โบราณสถานที่สำคัญไม่ว่าจะเป็น ปิรามิด ปราสาท สถูป เจดีย์ ล้วนวางตัวในแนวทิศตะวันออก – ตะวันตก อันเป็นสัญลักษณ์ของการให้ความเคารพต่อดวงอาทิตย์   การศึกษาเส้นทางการเคลื่อนที่ของดวงอาทิตย์ ดวงจันทร์ และดวงดาวบนท้องฟ้า นำมาซึ่งพัฒนาการทางด้านคณิตศาสตร์   กลุ่มดาวจักราศี 12 กลุ่มที่ดวงอาทิตย์เคลื่อนที่ผ่าน ถูกตั้งเป็นชื่อเดือน  ในขณะที่ดวงอาทิตย์ ดวงจันทร์ และดาวเคราะห์ที่มองเห็นด้วยตาเปล่าอีกห้าดวง ถูกตั้งเป็นชื่อวันทั้งเจ็ดของสัปดาห์

มนุษย์ใช้ตำแหน่งของดวงอาทิตย์และดวงดาวเป็นตัวกำหนดชั่วโมงและวัน  และใช้ช่วงเวลาที่โลกโคจรรอบดวงอาทิตย์เป็นตัวกำหนดเดือนและปี  ซึ่งก็คือระบบนาฬิกาและระบบปฏิทินนั่นเอง  นับแต่โบราณมนุษย์ตระหนักดีถึงความสัมพันธ์ระหว่างวัตถุท้องฟ้ากับชีวิตประจำวัน  ชาวประมงออกเรือจับปลาต้องสังเกตตำแหน่งของดวงจันทร์ ซึ่งทำให้เกิดน้ำขึ้นน้ำลง   การทำการเกษตรและเลี้ยงสัตว์ต้องสังเกตตำแหน่งของดวงอาทิตย์และกลุ่มดาวในรอบปี ซึ่งเป็นตัวบ่งบอกฤดูกาล  ทหารออกรบตอนกลางคืน ต้องทราบเวลาขึ้นตกของดวงจันทร์ เพื่อใช้ความมืดในการอำพรางตัว  การทำงานและการพักผ่อนของมนุษย์ขึ้นอยู่กับเวลากลางวันกลางคืน ซึ่งถูกควบคุมด้วยการหมุนรอบตัวเองของโลก 
การเรียนรู้ของมนุษย์เริ่มต้นจากประสบการณ์และประสาทสัมผัส  เชื่อในสิ่งที่ตาเห็นก่อน แล้วจึงค่อยคิดหาเหตุผลมาอธิบายในภายหลัง  ด้วยเหตุนี้มนุษย์ในยุคโบราณจึงเชื่อว่า โลกคือศูนย์กลางของเอกภพ  กาลต่อมามีการสร้างกล้องดูดาวจึงพบหลักฐานซึ่งสามารถยืนยันว่า โลกหมุนรอบดวงอาทิตย์   มนุษย์ในอดีตต้องการทราบว่าขอบโลกอยู่ที่ไหน มนุษย์ในปัจจุบันต้องการทราบว่า ขอบของเอกภพอยู่ที่ใด  มีสิ่งมีชีวิตอยู่บนดาวดวงอื่นหรือไม่   อนาคตของเอกภพจะเป็นอย่างไร  การเดินทางระหว่างดวงดาวจะทำได้อย่างไร 

โลกแบน หรือโลกกลม
          มนุษย์ในยุคก่อนประวัติศาสตร์คิดว่า โลกแบน ทั้งนี้เป็นเพราะพวกเขามองเห็นว่า โลกเป็นพื้นที่กว้างใหญ่สุดสายตา มีดวงอาทิตย์เคลื่อนที่ผ่านเวลากลางวัน มีดวงจันทร์และดวงดาวเคลื่อนที่ผ่านเวลากลางคืน  

          หกร้อยปีก่อนคริสต์กาล พิธากอรัส นักปราชญ์ชาวกรีก ได้สร้างแบบจำลองของเอกภพ โดยมีโลกเป็นศูนย์กลาง ถูกห้อมล้อมไว้ด้วยทรงกลมขนาดใหญ่เรียกว่า “ทรงกลมท้องฟ้า” ซึ่งบรรจุ ดวงอาทิตย์ ดวงจันทร์ ดาวเคราะห์ 5 ดวง และดาวฤกษ์จำนวนมากมาย    สามร้อยปีต่อมา อริสโตเติล นักปราชญ์ชาวกรีก กล่าวว่า ดวงอาทิตย์ ดวงจันทร์ เป็นทรงกลมที่โคจรรอบโลก    ขณะที่ อริสตาชุส นักปราชญ์แห่งเมืองอเล็กซานเดรีย (ปัจจุบันอยู่ในประเทศอียิปต์) กล่าวว่า ดวงอาทิตย์เป็นศูนย์กลางของจักรวาล มีโลก ดวงจันทร์ และดาวเคราะห์ทั้งหลายโคจรล้อมรอบ   ต่อมาอีกหนึ่งศตวรรษ อีราโทสธีนิส พบว่ามุมของแสงอาทิตย์ที่ตกกระทบพื้นผิวโลก ณ เวลาเดียวกันของแต่ละตำบล ไม่ใช่มุมเดียวกัน เนื่องจากโลกกลม เขาคำนวณได้ว่า ดวงอาทิตย์ใหญ่กว่าโลก และโลกใหญ่กว่าดวงจันทร์

// ความหมายของระบบดาราศาสตร์ // ระบบสุริยะ // กาแล็กซี่ทางช้างเผือก // เนบิวล่า // การหาตำแหน่งของโลก //

// การหาตำแหน่งของดาวเหนือ // ภาพรวมของจักรวาล// กลุ่มดาว // วิธีสอนดูดาว // แบบทดสอบ //

Free Web Hosting